![]() |
วันนี้ (21 เมษายน 2568) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมกับ นายฌอง ทอดต์ (Mr. Jean Todt) ผู้แทนพิเศษด้านความปลอดภัยบนท้องถนนของเลขาธิการสหประชาชาติ
จัดพิธีมอบหมวกกันน็อคจำนวน 100 ใบ ให้กับนักเรียนในพื้นที่กรุงเทพฯ ณ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เพื่อรณรงค์และสร้างจิตสำนึกด้านความปลอดภัยทางถนนในกลุ่มเยาวชนไทย ภายใต้โครงการ “หมวกกันน็อคปลอดภัยและราคาไม่แพง” (Safe and Affordable Helmets Initiative) ซึ่งริเริ่มโดยนายทอดต์ โดยมีเป้าหมายเพื่อลดจำนวนการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน ด้วยการเพิ่มการเข้าถึงหมวกกันน็อคคุณภาพสูง โดยเฉพาะในกลุ่มนักเรียนและเยาวชน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบสูงจากอุบัติเหตุบนท้องถนน
โดยโครงการนี้ริเริ่มขึ้นเมื่อนายฌอง ท็อดต์ ผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติด้านความปลอดภัยทางถนน ได้เดินทางมาทำภารกิจและเยือนประเทศไทยเมื่อวันที่ 1 - 7 พฤศจิกายน 2567 โดยได้รับเชิญจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครให้เยี่ยมชมโรงเรียนฉิมพลี เพื่อสังเกตการณ์โครงการการศึกษาด้านความปลอดภัยทางถนนสำหรับเด็กนักเรียน โดยมีผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย และคุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล ร่วมในกิจกรรมครั้งนี้ด้วย โดยระหว่างกิจกรรม คุณหญิงปัทมาได้ประกาศมอบหมวกนิรภัยที่ได้รับการรับรองจากสหประชาชาติ จำนวน 2,000 ใบ สำหรับเด็กนักเรียนในกรุงเทพมหานคร โดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ให้การสนับสนุนร่วมแจกจ่ายหมวกนิรภัย พร้อมทั้งรับรองว่าหมวกนิรภัยจะถูกส่งมอบให้กับเด็กนักเรียนที่ขาดแคลนในพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างเหมาะสม
ในการกลับมาเยือนกรุงเทพมหานครอีกครั้งของนายท็อดต์ ในระหว่างวันที่ 19 – 24 เมษายนนี้ จึงได้มีการประกาศโครงการดังกล่าวอย่างเป็นทางการผ่านพิธีมอบหมวกนิรภัยจำนวน 100 ใบ ณ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เพื่อเน้นย้ำถึงความสำคัญของความปลอดภัยทางถนนสำหรับเด็กนักเรียน และตอกย้ำความมุ่งมั่นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการลดอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยภายในงานยังมีการแสดงความร่วมมืออย่างเป็นทางการจากหลายภาคส่วน อาทิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ องค์การอนามัยโลก (WHO) สหประชาชาติประจำประเทศไทย รวมถึงภาคประชาสังคมและตัวแทนนักเรียนจากโรงเรียนฉิมพลีในนามของผู้ได้รับประโยชน์
หลังจากนั้นนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์และนายฌอง ทอดต์ยังได้ประชุมหารือร่วมกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ กทม. เพื่อกำหนดแนวทางความร่วมมือในอนาคต และการแจกจ่ายหมวกกันน็อคที่เหลืออีกกว่า 2,000 ใบ ภายใต้การประสานงานระหว่าง กทม. และทีมสหประชาชาติในประเทศไทย
โครงการนี้นับเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญในการขับเคลื่อนวาระความปลอดภัยทางถนนให้กับเยาวชนไทย และตอกย้ำถึงความร่วมมือระหว่างภาครัฐ องค์กรระหว่างประเทศ และภาคเอกชน ที่มีเป้าหมายเดียวกันคือ “ลดการสูญเสียบนท้องถนนให้เป็นศูนย์” นั่นเอง
#ศปถกทม #เมาไม่ขับ #ดื่มไม่ขับ #ดื่มไม่ขับปลอดภัยทุกเส้นทาง #เดินทางดี #ปลอดภัยดี